การทำแอนิเมชันสามมิติ 3D Animation Pipeline
วันนี้วีโคจะมาอธิบาย การทำแอนิเมชันสามมิติ 3D Animation Pipeline จากประสบการณ์ที่เพิ่งเรียนจบหลักสูตรการสร้างการ์ตูนแอนิเมชันที่มหาวิทยาลัยและแข่งขันได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ1 โดยเอามาเชื่อมโยงกับหลักการสร้างแอนิเมชัน 3D Production Pipeline ตามทฤษฎีกันดู
3 ขั้นตอนหลักในการสร้างแอนิเมชัน
- Pre-Production การเตรียมงานก่อนสร้างแอนิเมชัน จะเป็นงานในส่วนการออกแบบเป็นหลัก ประกอบไปด้วย Idea > Story > Story Board > Animatic
- Production การสร้างแอนิเมชัน ประกอบไปด้วย Layout > R&D > Modeling > Texturing > Rigging/Set up > Animation > VFX > Lighting > Rendering
- Post-Production ขั้นตอนหลังการสร้างแอนิเมชัน ประกอบไปด้วย Compositing > 2D VFX /Motion Graphics > Color Correction > Final Output
Pre-Production
- แนวคิด (Idea) แรงบันดาลใจในการทำแอนิเมชัน ปมปัญหา ข้อขัดแย้ง แง่คิด สิ่งที่ต้องการสื่อให้ผู้ชมได้รับ หรือบางคนก็เรียกว่า เมสเสท ที่ต้องการให้ผู้ชมได้รับคืออะไร เรื่องราวที่จะทำแอนิเมชันต้องการถ่ายทอดหรือสื่อเรื่องราวแง่คิดอะไรให้ผู้ชมได้รับ
- บทละคร (Story) คิดเรื่องที่จะทำแอนิเมชั่น เขียนบรรยายออกมาว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม เขียนเรื่องราวที่ต้องการจะทำแอนิเมชันให้เห็นภาพ เข้าใจภาพรวมว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร แรงบันดาลใจมาจากอะไร เรื่องราวมีตัวละครกี่ตัว บทบาทความสัมพันธ์แต่ละตัวละคร เรื่องราวเป็นอย่างไร มีเหตุการณ์อะไรบ้าง เหมือนเล่าเรืองให้เข้าใจแบบภาพรวม
- ออกแบบตัวละคร Character Design ออกแบบพี่น้องว่าหน้าตาท่าทางเป็นอย่างไร ลักษณะพฤติกรรมเป็นอย่างไร ใส่เสื้อผ้าสีอะไรแบบไหน อายุประมาณเท่าไหร่ รวมถึงออกแบบตัวละครที่เกี่ยวข้องด้วย ในเรื่องจะมีมาสคอตทุเรียน ออกแบบออกมาว่ารูปร่างลักษณะเป็นแบบไหนอย่างไร คือวาดสเกตภาพใส่กระดาษหรือไอแพดออกมา วาดในคอมก็มีข้อดีคือแก้ไขได้ง่าย
- ออกแบบฉาก Asset Design ฉากประกอบไปด้วยอะไรบ้าง โซฟารับแขก โต๊ะอาหาร ถาดที่มีทุเรียนวางอยู่ แล้วมีอะไรวางไว้บ้าง มีกี่ห้อง ของแต่ละอย่างที่วางไว้บนโต๊ะเป็นแบบใด
- ออกแบบเค้าโครงลำดับภาพ Story Board ร่างออกมาเป็นภาพในแต่ละฉาก เป็นฉากๆ ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ขั้นตอนนี้เรียกว่าการ ลำดับภาพ โดยใช้การวาดเค้าโครงแต่ละภาพออกมา จะได้เข้าใจมุมมองภาพ มุมกล้อง ที่ต้องการให้ผู้ชมรับชมว่า มองจากมุมไหนอย่างไร
- การลำดับภาพ Animatic นำภาพที่วาดเป็นฉากๆมาเรียงลำดับต่อเนื่องกัน แล้วทำการตัดต่อให้ภาพเคลื่อนไหว ขั้นตอนนี้จะทำให้เราเห็นเค้าโครงเรื่องการลำดับภาพที่ชัดเจนขึ้นเพื่อนำไปใช้สร้างแอนิเมชัน
- การออกแบบ Design เมื่อได้เค้าโครงภาพแล้ว ต่อมาเราจะทำการออกแบบตัวละครโดยการสเก็ตภาพลงในกระดาษหรือไอแพด โดยให้เข้าใจภาพตัวละครครบทุกด้านสามมิติ รวมทั้งการออกแบบฉาก สิ่งของประกอบฉากต่างๆแบบสามมิติ
Production
- การวางแผนผัง Layout คือ การกำหนดมุมมองของภาพ และ ตำแหน่งของตัวละครอย่างละเอียด รวมถึงการวางแผนว่าในแต่ละฉากในแต่ละภาพตัวละครจะต้องเคลื่อนไหวอย่างไร ขยับแขนขาท่าทางสีหน้าอย่างไร
- สร้างตัวละคร Modeling ทำการปั้นหุ่นตัวละครด้วยโปรแกรมมายา (Maya) ทำการสร้างหุ่นเริ่มโดยใช้รูปทรงเรขาคณิตมาเชื่อมต่อกันเป็นโครงหุ่น ทำการเลื่อนจุดตัดของเส้นเพื่อปรับขนาดความโค้งเว้า บางหนาของตัวละคร มองภาพรวมเหมือนการปั้นดินน้ำมัน โดยตัวหุ่นที่ได้ออกมาจะเหมือนกับ การปั้นดินน้ำมันออกมาเป็นรูปทรงรูปร่างในแบบที่เราออกแบบ
- สร้างลักษณะการเคลื่อนไหว Rigging/ Setup ทำการใส่กระดูกโครงร่างให้หุ่นตัวละคร ว่าจะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างไรบ้าง คล้ายมนุษย์ที่มีโครงกระดูกที่สามารถเคลื่อนไหว พับ งอ หมุน เอียงซ้าย เอียงขวา ก้ม เงย ยื่น หด ได้ตามโครงสร้างกระดูก
- การใส่สี Texturing หลังจากเราทำการปั้นตัวละครขึ้นมา เราต้องทำการใส่สีให้สวยงามในขั้นนี้เรียกว่า texturing ใส่สีเดียว หรือจะใส่หลายสีแบบไล่เฉดสี หรือจะนำภาพมาใส่ในพื้นที่ๆเราต้องการก็ได้ ตัวอย่าง อยากให้ตัวละครใส่ผ้าลายไทย นำภาพลายไทยมาใส่บริเวณกางเกงของตัวละคร ก็จะได้ออกมาเป็นกางเกงลายไทยแล้วละ
- แอนิเมชัน Animation การสร้างภาพการ์ตูนแอนิเมชันให้เคลื่อนไหวตามแบบที่เราออกแบบไว้ใน เค้าโครงลำดับภาพ แต่คราวนี้ตัวโมเดลของเรามีการลงสี texturing มีการขยับ Rigging ในแบบที่เราต้องการ รวมทั้งมีฉากและสิ่งของต่างๆ (Assets) อยู่ด้วยแล้ว โดยแอนิเมเตอร์ (Animator) จะต้องกำหนดว่า ในแต่ละวินาที ตัวละครหรือสิ่งของในฉากจะเปลี่ยนตำแหน่งหรือท่าทางอย่างไร
- VFX เป็นตัวย่อ ย่อมาจาก Visual Effect คือการสร้างเทคนิคพิเศษต่างๆ เช่น หมอก ควัน ระเบิด เป็นต้น ถ้าในแอนิเมชันเรามีการใช้ Visual Effect ก็เอามาประกอบใส่เข้าตามช่วงเวลาที่เราต้องการ
- Lighting การจัดมุมแสง ความสว่างของแสง ในแบบที่เราต้องการ
- Redering คือการนำองค์ประกอบทุกอย่างมารวมกันแล้วเรนเดอร์หลายภาพต่อเนื่องเพื่อสร้างภาพการเคลื่อนไหว เช่น สร้างภาพเคลื่อนไหวแบบ 24เฟรมต่อวินาที ภาพความละเอียดแบบ Full HD และกำหนดนามสกุลไฟล์ในช่องทางที่ต้องการนำไปฉาย
Post-Production
- Composition การนำตัวละครและฉากหลังมารวมเป็นภาพเดียวกัน
- Color Correction การตรวจดูความเข้ากันได้ของสี ความผิดเพี้ยนของสีและองค์ประกอบของสี ตรวจทำการแก้ไขปรับแต่งให้ได้สีที่ลงตัวไม่ผิดเพี้ยน
- Final Output ตรวจสอบและทำการปรับแต่งภาพรวมให้กลมกลืนเข้ากันได้ก่อนนำออกฉาย
การสร้างแอนิเมชันสักเรื่องมิใช่เรื่องง่ายสักทีเดียว ต้องใช้ไอเดียสร้างสรรค์ตัวละคร เรื่องราวที่สนุกชวนให้ติดตาม รวมทั้งต้องมีจินตนาการที่ออกแบบสร้างสรรค์ออกมาให้ไม่มีใครเหมือนไม่เหมือนใครมี อีกทั้งต้องใช้ความตั้งใจอดทนพยายามสร้างออกมาจนทุกอย่างมันลงตัวแบบกลมกล่อมแล้วละก็ เรื่องที่เรานำเสนอออกไปมันก็น่าจะได้เรตติ้งที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียวเชียวละครับ